หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ตำนานโคมลอย


ตำนานโคมลอย

คำว่าโคมลอย นี้แปลได้ง่ายๆ ว่าเครื่องใช้ที่ให้กำเนิดแสงสว่างลอยตัวอยู่ ซึ่ง โคม ที่ประดิษฐ์ขึ้นนี้ อาจลอยอยู่ได้ทั้งในน้ำและในท้องฟ้าก็ได้ทั้งสองกรณี แต่ในที่นี้จะเริ่มกล่าวถึง “โคมลอย”ที่ลอยอยู่ในน้ำหรือลอยไปตามสายน้ำเสียก่อน


โคมลอย นับว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งในเทศกาลลอยกระทง เมื่อต้องการทราบความหมายของคำนี้ให้เป็นที่แน่นอนชัดเจนลงไป ก็ต้องไปดูจากต้นตำรับที่ว่าด้วยการลอยกระทง ซึ่งก็คือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือ นางนพมาศ และจากเอกสารชื่อนี้ฉบับที่กรมศิลปากร อนุญาตให้ศิลปาบรรณาคารพิมพ์จำหน่ายครั้งที่ ๑๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ หน้า ๙๖ บอกว่าในวันเพ็ญเดือนสิบสองนั้นจะมีพระราชพิธีจองเปรียง ซึ่งเป็น “นักขัตฤกษ์ชักโคมลอยโคม” ที่มีการเฉลิมฉลองกันถึงสามวัน ครั้งหนึ่ง นางนพมาศได้ประดิษฐ์โคมลอยเป็น “…รูปดอกกระมุท(ดอกบัว) บานกลีบรับแสงพระจันทร์ ใหญ่ประมาณเท่ากงระแทะ(กงเกวียน) …“ และประดับด้วยดอกไม้และผลไม้สลักเป็นรูปนกจับอยู่ตามกลีบดอกบัว ซึ่ง “พระร่วง” ก็พอพระทัยมาก “… จึ่งมีพระราชบริหารบำหยัดสาปสรรว่า แต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศ ถึงการกำหนดนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือน ๑๒ พระราชพิธีจองเปรียงแล้ว ก็ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกกระมุทอุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน อันว่าโคมลอยรูปดอกกระมุทบานก็ปรากฏมาจนทุกวันนี้ แต่คำโลกสมมุติเปลี่ยนชื่อเรียกว่าลอยกระทงทรงประทีป… “ (น.๙๙–๑๐๐)

จากความที่ยกมานี้สรุปได้ว่า โคมลอย ก็คือกระทงทรงประทีป หรือกระทงที่รองรับประทีปซึ่งจุดไฟแล้วปล่อยให้ลอยไปตามสายน้ำ เมื่อดูจาก พระราชพิธี ๑๒ เดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดพิมพ์โดยแพร่พิทยา ฉบับที่พิมพ์ครั้งที่สิบสาม พ.ศ. ๒๕๑๔ ในตอนที่กล่าวถึงพระราชพิธีจองเปรียงนั้น ทรงระบุว่าพระราชพิธีในเดือน ๑๒ ซึ่งมีมาในกฎมณเทียรบาลว่า พิธีจองเปรียง ลดชุดลอยโคมนั้น “… มีความแปลกออกไปนิดเดียวแต่ที่ว่าการพิธีจองเปรียง ลดชุดลอยโคม และเติม “ลงน้ำ” เข้าอีกคำหนึ่ง … การก็ตรงกันกับลอยกระทง ลางทีจะสมมติว่าลอยโคม …” (น.๘) และทรงกล่าวต่อไปว่า “.. การที่ยกโคมขึ้นนั้นตามคำโบราณกล่าวว่ายกขึ้นเพื่อบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสามคือ พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม การซึ่งว่าบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสามนี้เป็นต้นตำราแท้ในเวลาถือไสยศาสตร์ แต่ครั้นเมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงนับถือพระพุทธศาสนาก็กล่าวว่าบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระจุฬามณีในดาวดึงสพิภพ และบูชาพระพุทธบาทซึ่งปรากฏอยู่ ณ หาดทรายเรียกว่า นะมะทานที เป็นที่ฝูงนาคทั้งปวงสักการบูชาอยู่..” (น.๙) ในพระราชพิธี๑๒ เดือนยังระบุต่อไปว่าในเดือนสิบสองนี้มีการลอยพระประทีปด้วย โดยทรงอธิบายว่า “… การลอยพระประทีปลอยกระทงนี้ เป็นนักขัตฤกษ์ที่รื่นเริงทั่วไปของชนทั้งปวงทั่วไป ไม่เฉพาะแต่การหลวง แต่จะนับว่าเป็นพระราชพิธีอย่างใดก็ไม่ได้ ด้วยไม่ได้มีพิธีสงฆ์พิธีพราหมณ์อันใดเกี่ยวเนื่องในการลอยพระประทีปนั้น เว้นไว้แต่จะเข้าใจว่าตรงกับคำที่ว่าลอยโคมลงน้ำเช่นที่กล่าวมาแล้ว แต่ควรนับได้ว่าเป็นราชประเพณีซึ่งมีมาในแผ่นดินสยามแต่โบราณ..”(น.๒๒)

และความในพระราชนิพนธ์ช่วงนี้ยังมีพระราชาธิบายที่ยืนยันถึงข้อความในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ว่า “…การลอยประทีปที่ว่าในกฎหมายนี้มีเนื้อความเข้ากับเรื่องนางนพมาศ ซึ่งว่าท้าวศรีจุฬาลักษณ์ซึ่งเป็นท้าวพระสนมเอกแต่ครั้งพระเจ้าอรุณราช คือพระร่วง ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยามตั้งแต่กรุงตั้งอยู่ ณ เมืองสุโขทัย ได้กล่าวไว้ว่า ในเวลาฤดูเดือนสิบสอง เป็นเวลาเสด็จประพาสในลำน้ำตามพระราชพิธีในเวลากลางคืน พระอัครมเหสีและพระสนมฝ่ายในตามเสด็จในเรือพระที่นั่งทอดพระเนตรการนักขัตฤกษ์ซึ่งราษฎรเล่นในแม่น้ำตามกำหนดปี เมื่อนางนพมาศได้มารับราชการจึงได้คิดอ่านทำกระทงถวายพระเจ้าแผ่นดินเป็นรูปดอกบัวและรูปต่างๆ ให้ทรงลอยตามสายน้ำไหล… มีข้อความที่พิศดารยืดยาว เนื้อความก็คล้ายคลึงกันกับจดหมายถ้อยคำขุนหลวงหาวัดซึ่งได้กล่าวว่าพระเจ้าแผ่นดินกรุงเก่าหรือพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศนั้นเอง…” (น๒๒–๒๓)

จากความในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์และพระราชพิธีสิบสองเดือนที่กล่าวมานี้ อาจสรุปได้ว่า โคมลอยของนางนพมาศนั้นคือกระทงที่รองรับประทีป การที่นำ”โคมลอยที่ว่านี้ไปลอยน้ำก็เรียกว่า “ลอยโคม” ดังในพระราชนิพนธ์ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทรงเรียกว่า “ลอยพระประทีป” และการลอยพระประทีปหรือลอยกระทงนี้อย่างน้อยก็มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว แต่ที่น่าสังเกตก็คือพระราชาธิบายที่ว่า การลอยกระทงนี้ “… แต่จะนับว่าเป็นพระราชพิธีอย่างใดก็ไม่ได้ ด้วยไม่ได้มีพิธีสงฆ์พิธีพราหมณ์อันใดเกี่ยวเนื่องในการลอยพระประทีปนั้น เว้นไว้แต่จะเข้าใจว่าตรงกับคำที่ว่าลอยโคมลงน้ำเช่นที่กล่าวมาแล้ว…” และเมื่อพิเคราะห์ดูความจากบทพระราชนิพนธ์ในตอนที่กล่าวถึงเทียนที่จุดในพระราชพิธีจองเปรียงนั้น ทรงกล่าวว่า “…แต่ถึงว่าโคมชัยที่อ้างว่าบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระพุทธบาทดังนี้แล้ว ก็ยังเป็นพิธีของพราหมณ์พวกเดียว คือตั้งแต่เริ่มพระราชพิธี พราหมณ์ก็เข้าพิธีที่โรงพิธีในพระบรมมหาราชวัง และเวลาเช้าถวายน้ำพระมหาสังข์ตลอดจนวันลดโคม เทียนซึ่งจุดในโคมนั้นก็ทาเปรียง คือไขข้อพระโคซึ่งพราหมณ์นำมาถวายทรงทา การที่บูชากันด้วยน้ำมันไขข้อพระโคนี้ก็เป็นลัทธิพราหมณ์แท้ เป็นธรรมเนียมสืบมาจนแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า การพระราชพิธีทั้งปวงควรจะให้เนื่องด้วยพระพุทธศาสนาทุกๆ พระราชพิธี …” (น.๙)
โดย.. ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น