หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ตุงล้านนา

ตุง ศิลปะพื้นบ้านล้านนา 


ดินแดนล้านนาเป็นพื้นที่จังหวัดทางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ซึ่งประชากรภาคเหนือ เรียกตนเองว่า “ชาวล้านนา” โดยมีศิลปะวัฒนธรรมของตนเองซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตภูมิปัญญาของชาวล้านนา


งานประดิษฐ์คิดค้นที่สะท้อนวัฒนธรรมของชาวล้านนาเป็นการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่สอดใส่จิตวิญญาณแห่งความเคารพรักและบูชาลงไปในผลงาน เพื่อมอบให้แก่บุคคลอันเป็นที่เคารพรัก เพื่อใช้ในโอกาสพิเศษที่เป็นเกียรติยศ เป็นความดีความงามของตนเองรวมทั้งเพื่อตอบสนองความศรัทธาอันสูงสุดของชาวพุทธ โดยเฉพาะความเชื่อในการใช้วัตถุที่ดีมีคุณค่าเป็นเครื่องบูชา สักการะในงานบุญ งานกุศลต่าง ๆ ตามประเพณี

“ตุง” จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความเคารพรักและบูชา ที่ชาวล้านนาประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องบูชาสักการะและประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ตามประเพณีของชาวล้านนา ซึ่งตุงที่ประดิษฐ์ขึ้นมานั้นรูปแบบลักษณะการใช้งานตามพิธีกรรมและประเพณีแตกต่างกันไป ตุงแบ่งออกเป็น 3 ประเภทได้แก่

1. ตุงที่ใช้ประกอบพิธีมงคล เป็นตุงที่ใช้ในงานบุญต่าง ๆ เช่นงานฉลอง งานทำบุญขึ้นปีใหม่ สงกรานต์ งานปอยเทศกาลต่าง ๆ เป็นต้น

2. ตุงที่ใช้ประกอบพิธีอวมงคล เป็นตุงที่ใช้ในงานที่ไม่เป็นมงคลเช่น พิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย งานศพ เป็นต้น

3. จ้อต่าง ๆ (ตุงเล็ก) เป็นตุงรูปสามเหลี่ยมขนาดต่างๆ ซึ่งใช้ประกอบงานพิธีกรรมต่าง ๆ หรือใช้ร่วมกับตุง

ตำนานตุง (ธง)

(จากหนังสือวัฒนธรรมล้านนาไทย ของมณี พยอมยงค์ )


จากตำนานเมืองหิรัญนครเงินยาง ศรีเชียงแสน ได้กล่าวว่า ตุงสามารถช่วยให้มนุษย์หลุดพ้นจากการตกนรกได้ ดังเรื่องเล่าว่า มีนายพรานผู้หนึ่งล่าเนื้อมาตั้งแต่อายุได้ 15 ปี จนถึงอายุได้ 48 ปี วันหนึ่งเข้าป่าไปเพื่อจะล่าเนื้อ บังเอิญไปถึงวัดศรีโคมคำ (จังหวัดพะเยา) ได้เห็นพระปฎิมากรองค์ใหญ่และมีการประดับตุง เมื่อกลับมาถึงบ้านก็จัดหาผ้ามาทำตุงแล้วเอาไปบูชาพระประทานองค์ใหญ่นั้น ครั้นนายพรานผู้นี้ตายไป พระยายมราชมิทันได้พิจารณา ก็โยนนายพรานผู้ลงไปในนรกในทันใดนั้น ตุงที่นายพรานเคยทำเพื่อถวายพระประธานองค์ใหญ่นั้นก็พันเอาตัวยายพรานพ้นจากนรกเสีย พระยายมราชจึงพิจารณาดูแล้วก็บอกให้นายพรานขึ้นไปอยู่บนสวรรค์ ชาวเหนือจึงมีความเชื่อที่ว่า การถวายหรือทานตุงนั้น มีอานิสงส์หรือได้บุญอย่างมาก

ตุงมีหลายชนิดและมีขนาดต่าง ๆ กัน ขนาดเล็กกว้างประมาณ 3 นิ้ว ยาว 6 นิ้ว จนถึงยาว 14 กิโลเมตร กว้าง 10 กิโลเมตร และตุงมีตั้งแต่ทำจากกระดาษจนถึงทำด้วยโลหะ เช่นทองเหลือง ทองคำ หรือเงินเป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีตุงและช่อทำด้วยกระดาษสีต่าง ๆ ซึ่งใช้ปักที่กองเจดีย์ทราย ส่วนตุงจัย (ธงชัย) หรือตุงใย (ตุงที่ทอด้วยด้าย ไหม หรือแพร) นั้นเป็นตุงใหญ่ อาจมีความกว้างประมาณ 20 นิ้ว ยาวประมาณ 3 วา ถือกันว่าตุงยิ่งยาวยิ่งมีอานิสงส์มาก ใช้ปักไว้ที่หน้าวัดหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทำการฉลองในคราวมีงานปอยหลวง การเอาตุงไปทำพิธีบูชาในงานพิธีหรืองานกุศลนั้น จะได้ให้ขึ้นสวรรค์ ตุงที่ถือเวลาแห่กฐินเรียกว่า ตุงตะขาบ จะถือในขบวนแห่ซึ่งมีความเชื่อกันว่าการทอดกฐินมีอานิสงส์มาก แม้แต่สัตว์ เช่น ตะขาบ จระเข้ ก็อยากร่วมทำบุญด้วย จึงขอให้ทำรูปของตัวร่วมขบวนไปด้วย

และยังมีตุงอีกประเภทหนึ่งที่ชาวล้านนาใช้ในการถือนำศพไปสุสาน คือตุงสามหาง มักทำด้วยกระดาษสา หรือผ้าดิบสีขาว ความเชื่อเกี่ยวกับตุงสามหางมีว่า มนุษย์ทุกคนย่อมมีวันแพ้พระยายมราช จะต้องถึงแก่ความตายทุกคน การถือธงขาวนำหน้าศพก็เป็นการยอมต่อพระยายมราช ส่วนชายสามแฉกนั้น หมายถึง พระรัตนตรัยที่จะนำเอาวิญญาณของผู้ตายไปสู่สุคติได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น