ความเป็นมา ในปี พ.ศ. 2508 กรมป่าไม้เห็นว่าบริเวณริมถนนในท้องที่ตำบลหางดง อำเภอฮอดและตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสถานที่ร่มรื่น สภาพภูมิประเทศสวยงามแปลกตา มีความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ ประกอบด้วยโขดผา แมกไม้และลำน้ำที่ไหลแรงผ่านหลืบเขา ที่ชาวเมืองเหนือเรียกว่า “ออบหลวง” เป็นที่ซึ่งประชาชนชอบไปพักผ่อนชมธรรมชาติความรื่นรมย์อยู่เป็นประจำ จึงได้จัดให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของ ประชาชนในรูปแบบของวนอุทยานตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2509 อยู่ในความดูแลของสำนักงานป่าไม้เขตเชียงใหม่
ในส่วนที่ได้จัดตั้งเป็นวนอุทยานออบหลวง ในอดีตเป็นสถานที่พักของพวกทำไม้บริษัทบอร์เนียว ซึ่งในสมัยนั้นการทำไม้สักใช้วิธีลำเลียงล่องมาตามลำน้ำแม่แจ่ม ไม้จะมาวนอยู่ที่ออบหลวงซึ่งเป็นวังน้ำวนและลึกมาก จากออบหลวงที่มีหน้าผาสูงชัน น้ำตกจากหน้าผาสูง บริษัททำไม้จึงตั้งปางพักตรงจุดนี้เพื่อคอยเก็บไม้ที่ไหลมา ไม่ให้ไหลลงไปวังน้ำวน ตามประวัติดั้งเดิมเล่าสืบต่อกันมาว่า ลำน้ำแม่แจ่มสมัยก่อนเรียกว่า “แม่น้ำสลักหิน” เนื่องจากแม่น้ำนี้ได้เจาะภูเขาหินลูกหนึ่งจนทะลุไหลผ่านเป็นลำน้ำตรงที่เรียกว่า “ออบหลวง” ในปัจจุบัน ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นแม่น้ำแม่แจ่ม ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกกันอยู่ทุกวันนี้
ต่อมากรมป่าไม้ได้โอนวนอุทยานออบหลวง มาอยู่ในความดูแลของกองอุทยานแห่งชาติ และในต้นปี พ.ศ. 2531 นายธำมรงค์ ประกอบบุญ ผู้อำนวยการกองอุทยานแห่งชาติ ได้ให้นโยบายและสั่งการให้วนอุทยานออบหลวงดำเนินการสำรวจเบื้องต้นพื้นที่ข้างเคียงโดยรอบวนอุทยาน เพื่อยกฐานะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ผลการสำรวจตามหนังสือ ที่ กษ 0713(อล)/พิเศษ ลงวันที่ 27 เมษายน 2531 และ ที่ กษ 0713(อล)/พิเศษ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2531 รายงานว่าป่าจอมทอง ป่าแม่แจ่ม-แม่ตื่น และป่าแม่แจ่ม ที่ทำการ สำรวจพื้นที่จะกำหนดเป็นอุทยานแห่งชาตินี้แต่เดิมได้กำหนดให้เป็นป่าถาวรของชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2509
ต่อมาได้ประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 กล่าวคือ ป่าจอมทองเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 212 (พ.ศ. 2510) ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาเล่ม 84 ตอนที่ 82 วันที่ 21 สิงหาคม 2510 ป่าแม่แจ่ม-แม่ตื่นเป็นป่าสงวนแห่งชาติตามกฎกระทรวงฉบับที่ 189 (พ.ศ. 2509) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 83 ตอนที่ 119 วันที่ 31 ธันวาคม 2509 ป่าแม่แจ่มเป็นป่าสงวนแห่งชาติตามกฎกระทรวงฉบับที่ 712 (พ.ศ. 2571) ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาเล่ม 91 ตอน 225 วันที่ 29 ธันวาคม 2517 เนื้อที่ทำการสำรวจประมาณ 630 ตารางกิโลเมตร มีสภาพป่าสมบูรณ์ด้วยระบบนิเวศทุกประการมีจุดเด่นทางธรรมชาติสวยงาม และเป็นแหล่งทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง เหมาะสมสำหรับ การจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติได้
กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้ทำการตรวจสอบและได้มีหนังสือ ที่ กษ 0713/1403 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2531 เสนอกรมป่าไม้มีคำสั่งที่ 824/2531 ลงวันที่ 2 ธันวาคม 2531 ให้ นายไชโย ยิ่งเภตรา เจ้าพนักงานป่าไม้ 5 ไปทำการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมและได้ประกาศจัดตั้งพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 108 ตอน 211 ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2534 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 68 ของประเทศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น